วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

EGA ทุ่ม 800 ล้านสร้างไซต์สำรองรับมือบริการภาครัฐผ่านแอป

EGA ทุ่ม 800 ล้านสร้างไซต์สำรองรับมือบริการภาครัฐผ่านแอป
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA
       EGA เตรียมงบ 800 ล้านบาท จัดทำไซต์สำรองสนับสนุนระบบงานภาครัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ คาดอีก 6 เดือนได้สถานที่ พร้อมจับมือภาครัฐร่วมพัฒนาแอปใหม่ๆ เพิ่มเป็น 150-200 แอป จากปัจจุบันอยู่ที่ 100 แอป หลังตั้งศูนย์กลางแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้งานได้จริงไม่ใช่แค่แอปพีอาร์ เตรียมกระตุ้นการใช้งาน eService หลังพบผู้ใช้เพียง 3% จากบริการที่มีอยู่ 800 กว่าบริการ
       
       ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA กล่าวว่า EGA ได้เตรียมงบประมาณไว้ในเบื้องต้นประมาณ 800 ล้านบาท ในการทำไซต์สำรองหรือ DR Site (Disaster Recover Site) หรือศูนย์สำรองข้อมูลฉุกเฉิน เพื่อรองรับกับระบบงานต่างๆ ให้สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด ภายใต้นโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government ที่กำลังทำการพัฒนาระบบงานต่างๆ ของภาครัฐให้มีความทันสมัย และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น
       
       โดยคาดว่าอีกประมาณ 6 เดือนนับจากนี้ จะได้สามารถหาที่ตั้งของ DR Site ได้ ส่วนการดำเนินงานครึ่งปีหลังนั้นจะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในการเข้ามาสู่บริการแบบดิจิตอลให้มากขึ้น รวมทั้งจะทำการส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ เพื่อให้การบริการประชาชนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 100 แอป และตั้งเป้าหมายจะเพิ่มแอปพลิเคชันให้เป็น 150-200 แอป ภายในปีนี้
      
       “ล่าสุด EGA ได้ทำการเปิดตัว Government Application Center : GAC ซึ่งเป็นศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ ที่สะดวกต่อการค้นหา และเข้าถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประชาชนสามารถใช้บริการภาครัฐส่งตรงผ่านมือถือ ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้สามารถบริการประชาชนได้จริงไม่ใช่โปรแกรมประชาสัมพันธ์องค์กร ขณะเดียวกัน โปรแกรมเหล่านี้ยังสามารถรองรับโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้งานกับสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งปัจจุบันจะเน้นที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่วนไอโฟนและวินโดวส์โมบายส์นั้นจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง”
EGA ทุ่ม 800 ล้านสร้างไซต์สำรองรับมือบริการภาครัฐผ่านแอป
       ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริการ eService ของหน่วยงานภาครัฐมีอยู่ถึง 800 กว่าบริการ แต่ยังมีผู้ใช้เพียง 3% ของประชาการที่ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในประเทศเท่านั้น ดังนั้น EGA จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการผลักดันและส่งเสริมเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า การใช้บริการภาครัฐจะสะดวกขึ้น และประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังหน่วยงานราชการที่ต้องการติดต่อทั้งหมด และลดการกรอกแบบฟอร์มลงเหลือเพียงการเซ็นชื่อเท่านั้น 
      
       “เราตั้งใจว่าจะสามารถทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการ eService ให้มากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ที่จะต้องใช้งานได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว โดยจะมีการระดมความเห็นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อให้รู้ถึงความต้องการใช้จากภาคประชาชนว่าต้องการแอปพลิเคชันด้านใดบ้าง เพื่อให้ภาครัฐทำการพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มมากขึ้น และเป็นแอปที่ต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง”
       
       ทั้งนี้สำหรับแอปพลิเคชันเด่นๆ อาทิ RD HOT NEWS โปรแกรม RSS Reader สำหรับติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมสรรพากร, Highway Police Thai by 97 System Pattaya แอปพลิเคชันที่ช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุในที่ต่างๆ ของประเทศไทย ส่วนในหมวดสุขภาพและการสาธารณสุขก็มี Oryor Smart Application ที่สามารถรับข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยา อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น
       
       ทั้งนี้ ที่ผ่านมา EGA ได้ทำหน้าที่พัฒนาระบบงานต่างๆ ให้แก่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบริการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ GIN2.5 ซึ่งเป็นการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายของหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ และขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกส่วนราชการอย่างมั่นคงปลอดภัย
       
       ระบบ G-SaaS หรือ Government Software as a Service การบูรณาการระบบบริการภาครัฐที่ส่วนราชการสามารถใช้งานร่วมกันได้ สามารถเช่าใช้ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานภายในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นการต่อยอดบริการคลาวด์ภาครัฐ หรือ G-Cloud ซึ่งในงานนี้จะมีการนำเสนอบริการใหม่ เช่น ระบบประชุมทางไกลรุ่นประสิทธิภาพสูง และอื่นๆ ทั้งนี้ ทุกๆ บริการของ EGA นั้นมีบทบาทและกลไกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับ e-Government ประเทศไทย

คสช. เห็นชอบกรอบงบประมาณแผ่นดินปี 2558 รวม 2.5 ล้านล้านบาท, กระทรวงศึกษาได้ 19.3%


ที่ประชุม คสช. วันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ลงมติเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่มีงบทั้งหมด 2.575 ล้านล้านบาท ถือเป็นงบประมาณขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท จากที่จัดเก็บเงินรายได้สุทธิ 2.325 ล้านล้านบาท

หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือกระทรวงศึกษาธิการ 4.98 แสนล้านบาท (19.3% ของงบทั้งหมด), งบกลาง 3.72 แสนล้านบาท (14.5%), กระทรวงมหาดไทย 3.41 แสนล้านบาท (13.3%), กระทรวงกลาโหม 1.9 แสนล้านบาท (7.5%), กระทรวงการคลัง 1.8 แสนล้านบาท (7.2%)

คสช. ได้มีงบลงทุนจำนวน 4.5 แสนล้านบาทด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ, 1.1 แสนล้านบาทเพื่อป้องกันน้ำท่วม-ภัยพิบัติ, 9.1 แสนล้านบาทด้านรถไฟรางคู่  ถัดจากนี้ไป งบประมาณปี 2558 จะถูกจดพิมพ์และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบในวาระที่หนึ่ง วันที่ 6 สิงหาคม และผ่านกระบวนการของสภาในช่วงเดือนสิงหาคม และทูลเกล้าฯ วันที่ 15 กันยายน