วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

Digital Economy เศรษฐกิจดิจิตอล คนไทยได้อะไร

เมื่อหลายวันก่อนได้ดูรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" และได้ฟังการอธิบาย เศรษฐกิจดิจิตอล โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รู้สึกอยากแบ่งปันจนได้พบบทความที่ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ จึงขอนำมาแบ่งปันกัน
******************************************************

Digital Economy

โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ  (อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)
ประธานกรรมการคณะกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)


คนไทยรู้จักคำว่า Digital Economy เมื่อรองนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แถลงนโยบายว่าต้องสนับสนุนให้เกิด Digital Economy ขึ้นเพื่อเปลี่ยนรูปภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการดั้งเดิมของเรา ลองมาดูความหมายของคำนี้กัน

Digital Economy หมายถึงเศรษฐกิจที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (ซึ่งมีอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก) เป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งที่เราเรียกว่า E-Commerce หรือการค้าขายกันทางอินเตอร์เน็ตคือลักษณะหนึ่งของ Digital Economy

ผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นเป็นคนแรกคือ Don Tapscott ผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Digital Economy : Promise and Peril in the Age of Networked Intelligence” ใน ปี 1995 หนังสือเล่มนี้เป็นเบสส์เซลเลอร์ระดับชาติภายในเวลา 1 เดือน และคงความเป็นหนังสือยอดฮิตอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ได้เป็นหนังสือด้านไอเดียธุรกิจที่ฮิตอันดับ 1 ในปี 1996

Tapscott ชี้ให้เห็นว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิถีของการค้าขายอย่างชนิดที่โลกไม่เคย เห็นมาก่อนโดยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที กฎกติกาและกฎหมาย การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับตัวและปรับทัศนคติของประชาชน

Digital Economy มีชื่ออื่นอีกเช่น The Internet Economy / The New Economy หรือ Web Economy อย่างไรก็ดีชื่อที่คนนิยมที่สุดคือ Digital Economy

Digital Technology เป็นฐานสำคัญของไอทีซึ่งอาศัยการใช้เลข 0 และ 1 ซึ่งอยู่ในลักษณะของ Binary System (ถ้าเป็น Decimal System ก็จะเป็นฐาน 10 กล่าวคือประกอบด้วยเลข 0 ถึง 9) ในการส่งสัญญาณ ซึ่งการส่งสัญญาณ 0 และ 1 ส่วนใหญ่กระทำผ่านใยแก้วนำแสง (Optic Fiber)

ไอที คือการผนวกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ากับเทคโนโลยีโทรคมนาคม สังคมที่มีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (เช่นเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นตัวกลางนำเสียง ข้อมูลและภาพสู่โทรศัพท์และอุปกรณ์ไอทีทั้งหลาย / ชุมสาย / เสาส่งสัญญาณ / สถานีรีเลย์สัญญาณ ฯลฯ) ที่มีคุณภาพและครอบคลุมกว้างขวาง มีการบริหารจัดการเครือข่ายที่ดี ตลอดจนมีการประยุกต์ซอฟต์แวร์ และมีกลไกในการประสานการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ดี จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็น Digital Economy

การเป็น Digital Economy ทำให้เกิดสิ่งต่อไปนี้


  1. การลดต่ำลงของต้นทุนในการประกอบการไม่ว่าในด้านการผลิต ด้านการขาย (ลองจินตนาการสังคมที่ไม่มีอีเมล์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มี Conference Call ดูว่าจะมีโสหุ้ยหรือ Transaction Cost ในการดำเนินการสูงเพียงใด)
  2. อำนวยให้เกิดการต่อยอดในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ออกสู่ตลอดเพื่อสนอง ความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่นการได้รับข้อมูลข่าวสารในเรื่องต่าง ๆ จากแหล่งอื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อนำมาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ฯลฯ
  3. การขยายตัวอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นของ E-commerce ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ต้นทุนในการดำเนินการลดต่ำลง เช่น การขายของทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีร้านค้า ความสะดวกของผู้ซื้อที่ไม่ต้องเดินทางไปหาซื้อของ เกษตรกรเปิด Application และรู้ได้ทันทีจากตำแหน่ง GPS ที่ตนอยู่ว่าในพื้นที่นั้นในปีนั้นควรปลูกพืชอะไร ฯลฯ
  4. ขยายการจ้างงานและสร้างการจ้างงานในลักษณะใหม่ ๆ อันเป็นผลจากการเกิดสินค้าการตลาดและรูปแบบการค้าขายใหม่ เช่น นักกลยุทธ์การตลาดทาง social media ที่ปรึกษา E-commerce นักโฆษณาสินค้าทาง Social Media ฯลฯ
  5. อำนวยให้เกิดการลงทุนธุรกิจข้ามพรมแดนมากยิ่งขึ้น เช่น การจองโรงแรมและทริปท่องเที่ยว การลงทุนซื้อหุ้นต่างประเทศ การค้าขายเงินตราต่างประเทศ ฯลฯ
  6. สนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนซึ่งช่วยส่งเสริมคุณภาพของมนุษย์และแรงงาน เช่น การเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต / E-Learning ฯลฯ

          ประการสำคัญ Digital Economy อำนวยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคต่างๆ มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสนับสนุนความแข็งแกร่งในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดอันเนื่องมาจาก การมีข่าวสารข้อมูลที่กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

          ภาค Hospitality ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ อาหาร บันเทิง การเดินทาง wellness (นวด สปา รักษาพยาบาล) ซึ่งกำลังจะมีความสำคัญในภูมิภาคของ CLMV (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) จีนตอนใต้และไทยมากยิ่งขึ้นจะได้อานิสงส์เป็นอย่างมากจากการเป็น Digital Economy

         ปัจจุบันบ้านเรามีเครือข่ายใยแก้วนำแสงอย่างกว้างขวางไปถึงประชาชน 1 ใน 3 ของอำเภอทั้งหมด และตำบลใหญ่ ๆ เครือข่ายโทรคมนาคมของเราก็กระจายตัวไปเกือบทั่วประเทศอีกทั้งมีการผนวก กิจกรรมเศรษฐกิจเข้ากับไอทีจนอาจเรียกได้ว่าเราเป็น Digital Economy ในระดับหนึ่งในภาครัฐเองสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้ไอทีของงานภาครัฐก็วางโครงสร้างพื้นฐานของ อินเตอร์เน็ตของภาครัฐไว้กว้างขวาง และสามารถนำเอาฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจำนวนหนึ่งมารวมกันไว้เพื่อความสะดวกในการใช้ของประชาชน หน่วยงานของรัฐชื่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) ก็ได้วางรากฐานกฎหมายของการต่อยอดขึ้นไปเป็น Digital Economy ไว้พอควรแล้ว เช่นเดียวกับองค์กรของภาครัฐที่สนับสนุนการผลิตซอฟต์แวร์ และการใช้ไอทีในการผลิตและให้บริการ

          ถ้ารัฐบาลเอาจริงในเรื่องการสร้าง Digital Economy ก็จะทำให้สามารถต่อยอดขึ้นไปจากฐานที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดีด้วยการประสานงาน ของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีแผนพัฒนาเป็นขั้นตอนโดยมีลำดับความสำคัญ อะไรที่ขาดก็เติมให้เต็มและร่วมใช้ทรัพยากรกัน ก็เชื่อได้ว่าจะทำได้สำเร็จในระดับหนึ่งในเวลาพอควร และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต

          ปัจจุบัน Tapscott คนแคนาดาผู้ประดิษฐ์คำว่า Digital Economy เป็นกูรูสำคัญของโลกในด้านการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เขาเขียนหนังสือธุรกิจร่วมกับคนอื่นรวม 15 เล่ม หลายเล่มดังระดับโลก เมื่อไม่นานมานี้กลุ่ม Thinkers50 ได้เรียงลำดับท๊อป 50 คน ในโลกซึ่งยังมีชีวิตอยู่ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดด้านธุรกิจมากที่สุด ผลก็คือ Tapscott อยู่ในอันดับที่ 4

ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นและยินดีกับความสำเร็จของ Tapscott ผู้เกิดวันเดียวเดือนเดียวและ ปีเดียวกับผู้เขียน จำนวนนาทีที่เราสองคนมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่างกันอย่างมากก็ไม่เกิน 60 x 24 หรือ1,440 นาที

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 23 ก.ย.2557

เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ThaiPublica เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557



Google+

วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558

แนะนำ...วิธีตรวจสอบข้อมูลเงินประกันสังคมของตัวเองผ่านเว็บไซต์

เป็นกระทู้แนะนำเลยค่ะ สำหรับผู้ประกันตน วิธีตรวจสอบข้อมูลเงินประกันสังคม ของตัวเองผ่านเว็บไซต์
เห็นว่าเป็นข้อมูลที่ดีและควรจะแชร์ให้กับเพื่อนๆผู้ประกันตน จึงขอนำมาแบ่งปัน โดย copy ต้นฉบับมาเลยนะคะ


แนะนำ...วิธีตรวจสอบข้อมูลเงินประกันสังคมของตัวเองผ่านเว็บไซต์

*****************************************************************************

บางคนโดนหักเงินประกันสังคมไปทุกเดือน ก็ไม่รู้ว่าเงินนี้ไปถึงไหนยังไง วันนี้เลยขอแนะนำวิธีตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองครับ*** 

1. เข้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม http://www.sso.go.th คลิกที่ปุ่ม Login ที่มุมขวามือด้านบนเพื่อเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิก


2. หากเป็นการใช้งานครั้งแรก ให้คลิกที่ "สมัครสมาชิก" แต่ถ้าเป็นสมาชิกแล้ว ข้ามไปข้อ 6


3. กรอกข้อมูลผู้ใช้ ซึ่งเราสามารถกำหนดได้เอง โดยดูคำแนะนำที่ระบุในเว็บไซต์


4. กรอกข้อมูลส่วนตัว


5. ระบบจะส่งข้อมูลยืนยันการเป็นสมาชิกไปที่อีเมล์ที่เราระบุ เข้าไปดูที่อีเมล์นั้น ถ้าไม่พบในกล่องจดหมาย อาจจะเข้าไปอยู่ที่กล่องอีเมล์ขยะ ซึ่งระยะเวลาที่จะได้ลิงค์ยืนยันการสมัครเข้าใช้งาน ไม่เกิน 24 ชม. (บางคนอาจจะ 5-10 นาทีก็ได้แล้ว แต่ไปอยู่ในกล่องเมล์ขยะ)


6. คลิกที่ลิงค์ในอีเมล์เพื่อเข้าสู่ระบบด้วยข้อมูลผู้ใช้และรหัสผ่านที่เรากำหนด หรือคลิกที่ปุ่ม Login ในหน้าแรกเพื่อกรอกข้อมูลผู้ใช้และรหัสผ่าน



7. คลิกที่ปุ่ม Login อีกครั้งเพื่อดูว่าเราเข้าสู่ระบบรึยัง ถ้าเข้าได้แล้ว จะปรากฏแถบยินดีต้อนรับเข้าสู่ระบบ


8. จากนั้นมาที่เมนู "ตรวจสอบข้อมูล" แล้วเลือก "สำหรับผู้ประกันตน" เพื่อดูข้อมูลต่างๆของเรา

 


9. จะเข้ามาที่หน้าข้อมูลที่เราสามารถตรวจสอบได้

10. ลองเลือก "ข้อมูลการส่งเงินสมทบ" ก็จะแสดงข้อมูลปีล่าสุด จะปรากฏจำนวนเงินที่เรานำส่งแต่ละเดือน ซึ่งถูกแยกเป็น 3 ส่วนคือ เจ็บป่วย ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งสามารถดูย้อนหลังไปปีก่อนๆได้ โดยเปลี่ยน พ.ศ.ด้านบน


11. ต้องการดูข้อมูลอื่นก็คลิกที่ "สำหรับผู้ประกันตน" ที่ด้านบน



12. ลองดูว่าถ้าเราอายุครบ 55 ปีตามเกณฑ์ เราจะได้เงินเท่าไหร่
      คลิกที่ "การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ"


จะแสดงข้อมูลส่วนแรก กรณีที่จ่ายเกิน 12 เดือน ก็จะมีทั้งส่วนที่เราสมทบ นายจ้างสมทบ และรัฐบาลสมทบ (เราสมทบ 35,093 บาท นายจ้างและรัฐสมทบมาอีกเท่าตัว)



นอกจากนี้ ก็จะมีตารางคำนวณผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มเติมให้ด้วย


จะเห็นว่า เบ็ดเสร็จแล้วเราจ่ายประกันสังคมส่วนของกรณีชราภาพไปทั้งสิ้น 35,093 บาท แต่เราจะได้กลับคืนมาตั้ง 84,218 บาท

หมั่นตรวจสอบเงินของเราเพื่อรักษาสิทธินะครับ


  • ปล. มีผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในเงินสงเคราะห์ชราภาพก็เลยไม่ได้ยื่นเรื่องขอรับเงิน ทำให้เสียสิทธิที่ควรได้เป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยนะครับ
  • ปล.2 ถ้าเกิดสิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์ชราภาพ (บำเหน็จ/บำนาญ) ให้ไปยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมเขตใดก็ได้ที่สะดวก ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่ที่เกิดสิทธิ มิฉะนั้นอาจเสียสิทธิรับเงินก้อนนี้ก็ได้ครับ โดยติดต่อขอรับแบบ สปส 2-01  พร้อมเตรียมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาสมุดบัญชีธนาคารไปด้วย จะไปยื่นเอง หรือให้ผู้อื่นไปยื่นแทนก็ได้ครับ
  • ปล.3 เงินที่จะได้คืนตามตารางที่คำนวณในเว็บไซต์ จะได้คืนเป็นก้อนเดียวครั้งเดียว (บำเหน็จ) มีเงื่อนไขคือต้องส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน แต่ถ้าส่ง 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเป็นรายเดือน (บำนาญ) ไปตลอดชีวิต รับเป็นเงินก้อนไม่ได้ (มีสูตรคำนวณจำนวนที่จะได้รับแต่ละเดือนในเว็บไซต์)
  • ปล.4 ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบข้อมูลของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (ไม่ใช่ลูกจ้าง) เลยยังไม่สามารถเช็คข้อมูลผ่านหน้าเว็บได้
  • ปล.5 กรณีที่มีปัญหาในการสมัครสมาชิกเว็บไซต์ หรือไม่สามารถทำการ Login ได้ แนะนำให้ติดต่อ โทร. 02-9562400 ในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น. แต่ถ้ามีข้อสงสัยอื่น ๆ เกี่ยวกับประกันสังคม ติดต่อสายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุด (มีคนรับสายตลอด)


ขอบคุณที่มา :  แนะนำ...วิธีตรวจสอบข้อมูลเงินประกันสังคมของตัวเองผ่านเว็บไซต์

แก้กม.ประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมากขึ้น

แก้กม.ประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมากขึ้น

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้าแก้กฎหมายประกันสังคม คาดกลางก.พ. นำเข้า กมธ.สนช.ได้ แจงเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนหลายประการ เพิ่มสงเคราะห์บุตรจาก 2 คน เป็น 3 คน เหมาจ่ายคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง คุ้มครองกรณีฆ่าตัวตาย กำหนดค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นทางการแพทย์โดยไม่พิสูจน์ถูกผิด



นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่มีการแก้ไขไป 45 มาตราจาก นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการประกันสังคมว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ได้พิจารณาครบทั้ง 45 มาตราแล้ว คาดว่าไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จะสามารถนำเข้าคณะกรรมาธิการสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้

ทั้งนี้ การแก้กฎหมายดังกล่าวนับเป็นส่วนสำคัญที่เอื้อต่อการปฏิรูประบบประกันสังคมสำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ อาทิเช่น

เพิ่มสิทธิด้านสุขภาพในการป้องกันโรค

ขยายระยะเวลาในการยื่นผลประโยชน์ทดแทน 7 ประการ อาทิ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

เพิ่มเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากเดิมไม่มี

การกำหนดค่าใช้จ่ายเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่จะมีให้โดยไม่ดูว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก โดยหากเป็นการทำงานตอบแทนเป็นนายจ้าง ลูกจ้างกันจริง จะครอบคลุมด้วย

และให้ผู้ประกันตนได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีได้รับความเสียหายในการรับบริการทางการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์


  • กรณีคลอดบุตร ดำเนินการให้เงินเหมาจ่ายคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • กรณีสงเคราะห์บุตร สามารถรับเงินทดแทนสงเคราะห์บุตรได้ 3 คนจากเดิม 2 คน
  • กรณีว่างงาน ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตน เพิ่มในกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัยโดยไม่มีการเลิกจ้างจะมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้าง
  • กรณีเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบได้ ในร่างใหม่กำหนดให้ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ถึงแม้ไม่มีการสมทบจะได้สิทธิประโยชน์ตรงนี้ขึ้นมา โดยจะได้เงินสงเคราะห์
  • หากเกิดกรณีเสียชีวิต ผู้จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ กรณีทุพพลภาพและตาย จากเดิมจะไม่คุ้มครองแต่ในร่างฯ ใหม่จะให้มีการคุ้มครอง
  • กรณีทุพพลภาพ จากเดิมเมื่อแพทย์ตรวจแล้วจะต้องมีการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปถึงจะเรียกว่าผู้ทุพพลภาพ 
    ร่างฯ ใหม่ไม่ต้องสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานถึงร้อยละ 50 จะถือว่าเป็นผู้ทุพพลภาพด้วย แต่ว่าในด้านการจ่ายประโยชน์ทดแทนอาจจะไม่ถึง 50% อาจจะลดหย่อนลงบ้างแต่ถือว่าให้สิทธิ์ผู้เจ็บป่วยที่ไม่ถึงเกณฑ์ มีการขยายระยะเวลาการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนจากเดิมเพียง 1 ปี เป็น 2 ปี ขยายความคุ้มครองไปที่ลูกจ้างส่วนราชการ ชั่วคราวทุกประเภท "ลูกจ้างชั่วคราว" ให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ส่วนการจ้างเหมาบริการ สัญญาปีต่อปี ฯลฯ เป็นต้น


ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ณ เดือนธันวาคม 2557  มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จำนวนทั้งสิ้น 13,625,658 คน

  • แบ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 10,029,777 คน 
  • ผู้ประกันตน มาตรา 39 จำนวน 1,124,765 คน 
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 จำนวน 2,471,116 คน

    SSO Channel คลิป vdo ประกันสังคม : ปรับเปลี่ยน พัฒนา เพื่อผู้ประกันตน 

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

เปิดศูนย์บริการ Smart Job Center จัดหางานเพื่อคนไทย ลดอัตราการว่างงานในปี 2558


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) 

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ให้การต้อนรับพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงานและร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงและได้เยี่ยมศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เพื่อให้กระทรวงแรงงานได้ทำให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศในการที่จะหางานทำ



หน้าที่ศูนย์บริการ Smart Job Center

  • ให้บริการคนว่างงาน หรือคนจะเปลี่ยนงาน หรือคนที่ทุพพลภาพ อยากจะหางานทำสามารถเข้ามาได้เลยที่นี้ 
  • เป็นศูนย์ของการจัดหางานโดยเฉพาะ 
  • ผู้ที่จะไปทำงานต่างประเทศก็สามารถมาดูได้ว่าประเทศไหน เปิดรับตำแหน่งใด เพราะมีตำแหน่งให้ดูได้ทันที 
  • ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว สามารถพูดคุยกับนายจ้างได้เลยว่าเราจะทำงานที่ไหน 
  • เป็น One Stop Service ที่นัดพบระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง
  • ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถมีงานทำได้ และสามารถเปลี่ยนงานได้  



Post by SSO Channel.

วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล Digital Economy

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล Digital Economy


เมื่อปี 2557 หลังจากเรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างดี "เศรษฐกิจดิจิตอล Digital Economy" ในรัฐบาลนายประยุทธ จันทร์โอชา  เรามาทำความเข้าใจกันว่าเศรษฐกิจดิจิตอล นี่คืออะไร และคนไทยจะได้อะไรจากนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลนี้

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล Digital Economy ของ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ตั้งเป้าวางรากฐานเศรษฐกิจไทยไปสู่โลกดิจิตอลที่ไร้พรมแดน ถือเป็นนโยบายใหม่เอี่ยมของประเทศไทยที่ผ่านมาเทคโนโลยีการสื่อสารไทยถูกถูลู่ถูกัง ไม่ค่อยพัฒนาไปไหนมานานแล้ว ไม่ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ ทีวีดิจิตอล ในมือของ กสทช. ที่ยังใช้เทคโนโลยีที่ล้าหลัง

หน่วยงานที่ขานรับฉับไวต้องยกให้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวงไอซีที ของ รัฐมนตรีพรชัย รุจิประภา เตรียมเปลี่ยนชื่อ กระทรวงไอซีที เป็น กระทรวงดิจิตอล อีโคโนมี กลายเป็นกระทรวงทันสมัยขึ้นมาทันที

การสร้าง เศรษฐกิจดิจิตอล ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องสร้าง โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิตอล ที่เป็นอินฟราสตรัคเจอร์ขึ้นมาเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่พร้อมและแยกกันอยู่หลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงไอซีที กสทช. เป็นต้น งานหินขั้นสำหรับ “หม่อมอุ๋ย” คือจะต้องรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลอีโคโนมีทั้งหมด ให้ยุบรวมเป็นหน่วยงานเดียว ไม่ใช่แยกกันทำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วันนี้ โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลของไทยยังค่อนข้างล้าหลังมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงค์โปร์ โดยเฉพาะ โทรศัพท์ 3 จี ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ที่กำลังมั่วอยู่กับ ทีวีดิจิตอล ที่ตั้งกฎเกณฑ์มั่วไปหมด ไม่รู้เป็น 3 จีระบบอะไร การดาวน์โหลดข้อมูลก็ช้าเป็นเต่าคลาน ระบบเสียงก็ขาดๆหายๆ ไปอยู่มุมไม่ดี สายก็ขาด หรือโทร.ไม่ได้ แต่ กสทช. ก็ปล่อยปละละเลยให้เป็นอยู่อย่างนี้ ทั้งที่ผู้บริโภคเสียหาย

หนังสือพิมพ์ The Asian Wallstreet Journal ดิ เอเชียน วอลสตรีท เจอร์นัล ลงข่าว การจัดอันดับ 20 บริษัทยักษ์ใหญ่อินเตอร์เน็ตโลก โดยวัดจากมาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าหุ้นในตลาด

อันดับ 1 Google  มีมูลค่าตลาด 390,500 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทก็ประมาณ 12.5ล้านล้านบาท เกือบเท่าจีดีพีประเทศไทย 

อันดับ 2 facebook มีมูลค่าตลาด 193,900 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท 

อันดับ 3 Alibaba บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จีน มีมูลค่าตลาด 165,000 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 5.28 ล้านล้านบาท 

อันดับ 4 Amazon.com มีมูลค่าตลาด 149,600 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 4.78 ล้านบาท 

อันดับ 5 Tencent Holding ของจีน มีมูลค่าตลาด 147,600 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 4.72 ล้านล้านบาท

อันดับ 6 Baidu Inc. มีมูลค่าตลาด 73,600 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 2.35 ล้านล้านบาท 

อันดับ 7 ebay.com มีมูลค่าตลาด 63,300 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 2 ล้านล้านบาท 

ส่วน ํYahoo ไปอยู่ อันดับ 9 มีมูลค่าตลาด 42,300 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท
Twitter  ไปอยู่ อันดับ 11 มีมูลค่าตลาด 30,000 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 960,000 ล้านบาท

ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่นับบริษัทที่ผลิตและขายสินค้าดิจิตอล เช่น Apple มีมูลค่าตลาด 560,337 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 18 ล้านล้านบาท มากกว่าจีดีพีประเทศไทยทั้งประเทศ มากกว่ามาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยทั้งตลาด และ Microsoft ที่มีมูลค่าตลาด 344,458 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 11 ล้านล้านบาท

ทีมงานนำข้อมูลเหล่านี้มาลงให้อ่านก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่า เศรษฐกิจในโลกดิจิตอลยิ่งใหญ่มหาศาลแค่ไหน นี่เพียงยกตัวอย่างมาแค่ 11 บริษัท ก็มีมูลค่าเศรษฐกิจปาเข้าไปถึง 69 ล้านล้านบาท หรือ 5 เท่าของจีดีพีประเทศไทย มากมายมหาศาลแค่ไหนลองไปนับนิ้วดู

การที่ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ มีนโยบายที่จะ วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิตอล ขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องและสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าต้องการให้นโยบายนี้ ประสบความสำเร็จ “หม่อมอุ๋ย” จะต้อง “ผ่าตัดใหญ่” ทั้ง กสทช.และ กระทรวงไอซีที กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายดิจิตอลทั้งหมดไม่งั้นไม่มีทางสำเร็จแน่ เพราะ “ตัวฉุดความเจริญ” มีเยอะจริงๆในประเทศไทย.

ขอบคุณที่มา ลมเปลี่ยนทิศ (ไทยรัฐออนไลน์)