วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประกันสังคม สำหรับคนมีลูก

วงนี้อยู่ในช่วงเทศกาลวันแม่ ลูกๆ ทั้งหลายอาจจะนึกภาพวันแรกที่คลอดจากท้องแม่ไม่ออก สำหรับคุณแม่หรือใครที่กำลังจะเป็นคุณแม่ในเวลาอันใกล้นี้ คงจะจำภาพในวันคลอดได้อย่างไม่มีวันลืม 

ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายคงได้วางแผนเตรียมค่าใช้จ่ายคลอดบุตรไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนนึงที่เป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม ที่มีสิทธิประโยชน์จากการคลอดบุตร แต่มักหลงลืมใช้สิทธินี้ เพื่อรักษาสิทธิฯในกองทุนประกันสังคมดังกล่าว อีกทั้งยังลดภาระค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร ดังนั้น สิทธิประกันสังคม การคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าลาคลอด กรณีเป็นผู้ประกันตนตาม ม. 33  และ ม. 39 ที่คุณแม่ควรรู้ มีดังนี้
  1. รับค่า คลอดบุตรแบบเหมาๆ 13,000 บาท / บุตร 1 คน
  2. ผู้ประกันตนหญิง ลาคลอด รับค่าชดเชย 50% ของรายได้ นาน 90 วัน 
  3. รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตร เดือนละ 400 บาท/บุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิด - 6 ขวบ


ประกันสังคมกับผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ

ประกันสังคมกับผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ 

            เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพอิสระจัดเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของระบบประกันสังคม ทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากภาครัฐเหมือนกับแรงงานในระบบหรือผู้ที่ทำงานโดยมีนายจ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบสามารถได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้นจากภาครัฐโดยการสมัครเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะขอกล่าวถึงในบทความนี้ค่ะ


ผู้ที่มีรายได้ประจำหรือผู้ที่ทำงานโดยมีนายจ้าง จะเป็นผู้ประกันตนโดยบังคับในระบบประกันสังคม มีหน้าที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ในขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งทำงานโดยไม่มีนายจ้าง จะได้รับสวัสดิการจากภาครัฐอย่างเดียว คือ สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเพิ่มขึ้นคือ การสมัครเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม


เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพอิสระสมัครกองทุนประกันสังคม จะจัดเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยผู้ที่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้นั้น จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ ลูกจ้างหรือผู้ที่มีรายได้หลักจากเงินเดือนจะเป็นผู้ประกันตนโดยบังคับ ซึ่งมีหน้าที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนตามที่กล่าวไปข้างต้น สำหรับผู้ประกันตามมาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อน และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนด้วยเหตุออกจากงาน แล้วสมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตนอีกครั้ง)


สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะได้รับจากกองทุนประกันสังคม ขึ้นอยู่กับการส่งเงินสมทบ โดยการจ่ายเงินสมทบจะจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 1 ครั้ง และจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ โดยปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายช่วยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เรียกว่า เงินประเดิม ซึ่งเงินที่รัฐบาลร่วมจ่ายหรือเงินประเดิมนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง ทั้งนี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถเลือกจ่ายเงินสมทบได้ 2 ทางเลือก คือ


ทางเลือกที่ 1 เงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน  (ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐบาลร่วมจ่าย 30 บาท)

ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ

    1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

เมื่อผู้ประกันตนต้องนอนพักที่โรงพยาบาลตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 200 บาทต่อวัน ซึ่งสามารถเบิกได้ไม่เกิน 20 วันต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน สำหรับค่ารักษาพยาบาลสามารถใช้สิทธิบัตรทอง

    2. กรณีทุพพลภาพ

ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เนื่องจากทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 15 ปี โดยจำนวนเงินทดแทนขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีทุพพลภาพสามารถใช้สิทธิบัตรทอง

    3. กรณีเสียชีวิต

ได้รับเงินค่าจัดการศพจำนวน 20,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนภายในระยะเวลา 12 เดือน

ทางเลือกที่ 2 เงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน (ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐบาลร่วมจ่าย 50 บาท) 

ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณีเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเงินบำเหน็จชราภาพอีก 1 กรณี เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และไม่ต้องการเป็นผู้ประกันตนต่อ จะได้รับเป็นเงินก้อนที่เกิดจากเงินสมทบทั้งหมดรวมกับดอกผลของเงินสมทบที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตามทางเลือกที่ 2 แล้วต้องการรับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน

กล่าวได้ว่า กองทุนประกันสังคมเป็นหนึ่งในบริการด้านสวัสดิการสังคม เพื่อช่วยคุ้มครองป้องกันประชาชนผู้ประกอบวิชาชีพอิสระมิให้ได้รับความเดือดร้อนในความเป็นอยู่ของชีวิตเมื่อต้องสูญเสียรายได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์สอดคล้องกับจำนวนเงินสมทบที่ส่ง และหากผู้ประกันตนเลือกส่งเงินสมทบกรณีชราภาพ เงินสมทบก้อนนี้จะเป็นเงินออมสะสมไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ