วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

10 Technology น่าจับตามอง 2557

นำเสนอ “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ” ในงาน “นาสด้า อินเวสเตอร์เดย์” ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ซึ่งปีนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำมาจัดร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ และเครือข่ายพันธมิตร ในงาน “IP INNOVATION AND TECHNOLOGY EXPO 2014”  หรือไอพีไอเท็กซ์ 2014 งานแรกของไทยที่บูรณาการรวมสุดยอดนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยจากหน่วยงานต่างๆไว้ด้วยกัน

“ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล”  ผู้อำนวยการ สวทช. บอกถึงการนำเสนอ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองว่า หลายเทคโนโลยีที่เคยกล่าวไว้ในปีก่อน ๆ วันนี้หลายอย่างเริ่มเห็นว่าเป็นจริงได้เร็วกว่าที่คิด อย่างเช่น ทีดีพรินเตอร์หรือเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ขณะนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มีทั้งเครื่องขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่พิมพ์ออกมาสร้างเป็นบ้านได้เป็นหลัง ๆ หรือแม้กระทั่งการพิมพ์อวัยวะด้วยหมึกที่ทำจากเซลล์และของเหลวที่อยู่กับเซลล์ได้ ก็ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา 
ขณะเดียวกันรากฐานของวิทยาการหลัก ๆ ที่เราถือว่ามั่นคงแล้ว มีหลายเรื่องที่ทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าทึ่งได้ อย่างเช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่เก่งขึ้นสองเท่าทุกสองปี  ฮาร์ดดิสก์ที่ทุกสิบปีจะมีความจุเพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่าตัว การคำนวณที่เร็วขึ้นมหาศาล อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น  รวมถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น
สำหรับ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ ในปี 2557 นี้  ดร.ทวีศักดิ์ บอกว่า  
ลำดับที่  1 RNAi Therapeutics
คือเทคโนโลยี อาร์เอ็นเอไอ เธอราปี หรือการแทรกแซงด้วยอาร์เอ็นเอ ซึ่งวิธีการใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังวิจัยกันอยู่ เพื่อให้สามารถเข้าไปขัดขวางการทำงานของเซลล์เป้าหมาย เช่น เซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตไม่ได้ แบ่งตัวก็ไม่ได้ และตายไปในที่สุด  โดยไม่กระทบกระเทือนกับเซลล์ปกติที่อยู่รอบๆ  ขณะนี้มีการทดสอบยาแบบอาร์เอ็นเอไอ  ระดับคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับแล้ว และในระดับห้องปฏิบัติการก็ยังมีผู้ทดสอบในอีกหลายโรค 
ลำดับที่ 2 DNA Robot 
เทคโนโลยีดีเอ็นเอ โรบอท หรือดีเอ็นเอที่ออกแบบพิเศษ สามารถประกอบร่างตัวเองจนได้รูปร่างและโครงสร้างพิเศษ ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้เป็นพาหะหรือตัวกลาง เพื่อนำยาหรือสารบางอย่างไปที่เซลล์เป้าหมายได้ ปัจจุบันในต่างประเทศอยู่ระหว่างพัฒนา ดีเอ็นเอ โรบอท ในรูปแบบต่าง ๆ 
ลำดับที่ 3 Synthetic Biology 
เป็นศาสตร์ใหม่ที่ผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับวิศวกรรม เน้นการออกแบบและสร้างสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีในธรรมชาติ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะสร้างเป็นจุลินทรีย์ ที่มีคุณสมบัติผลิตสารสำคัญที่มูลค่าสูงจนคุ้มค่ากับการลงทุน 
ลำดับที่ 4 Smart Polymer
หรือพอลิเมอร์ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ภายนอกได้ อาทิ แสง ความร้อน  สารเคมี หรือสนามแม่เหล็ก โดยการตอบสนองนั้นๆ ทำให้พอลิเมอร์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น รูปร่าง  อุณหภูมิ หรือสี คุณสมบัติแบบนี้ในระดับสุดยอด ก็คงไม่ต่างจากในภาพยนตร์ที่แม้หุ่นยนต์โดนยิง ก็ยังซ่อมแซมตัวเองได้
ลำดับที่  5 Lightweight Composite 
หรือ คอมโพสิตน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงเท่ากับเหล็ก มีความสำคัญมากกับอุตสาหกรรมยานยนต์และภาคการขนส่ง ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ลำดับที่  6  Seawater magnified
เป็นการสกัดแร่ธาตุและโลหะหายากที่มีค่าออกมาจากน้ำทะเล ไม่ว่าจะเป็น ลิเทียม แบเรียม โมลิบดีนัม นิเกิล และแร่ยูเรเนียม ซึ่งเป็นแร่มูลค่าสูงที่ต้องการในตลาด 
ลำดับที่  7 OLED

หรือไดโอดเปล่งแสงจากสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแสง โดยนำไปใช้งานได้ในสองรูปแบบใหญ่ๆ คือ ใช้เป็นจอแสดงผล และใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสง  
ลำดับที่ 8 เทคโนโลยีแอลอีดี 
ซึ่งจะมาแทนฟลูออเรสเซนต์ได้ เนื่องจากประหยัดพลังงานมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะสะท้อนสีจริงของวัตถุตามธรรมชาติดีขึ้นเรื่อยๆ 
ลำดับที่ 9 Cognitive
หรือ Computing Computer ที่เข้าใจ และเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ตลอดจนคิดและตัดสินใจได้เอง โดยอาศัยวิธีการเรียนรู้แบบเดียวกับสมองมนุษย์
ลำดับที่ 10 Big Data Analytic Platform 
ปัจจุบันมี Big Data หรือข้อมูลขนาดใหญ่มากๆ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลายวงการทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการตลาดที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ข้อมูลจราจร และข้อมูลการพยากรณ์อากาศ 
เทคโนโลยี Big Data ซึ่งมีการวิเคราะห์ขั้นสูงจะมีประโยชน์ ทั้งด้านการค้า และการวางแผนสำหรับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การสาธารณสุข หรือแม้แต่ด้านความมั่นคงของประเทศ

ขอบคุณแหล่งที่มาข่าว dalilynews.co.th